ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา
สินค้า OTOP
ผ้าไหมลายสาเกต
1 สิงหาคม 2567
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

“สาเกตนคร” เป็นชื่อในอดีตของเมืองร้อยเอ็ด ส่วน “ผ้าไหมลายสาเกต” คือ ผ้าไหมที่ประกอบด้วยลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ในการทอผ้าไหมของ จ. ร้อยเอ็ด ที่ได้นำเอาลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ที่นิยมทอในกลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ดมาทอต่อกันในผ้าผืนเดียวกัน เปรียบเสมือนเป็นการหลอมรวมความสามัคคีของชาวร้อยเอ็ดให้เป็นหนึ่งเดียว โดยแต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ที่ประกอบในผ้าสาเกต ได้แก่ ลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายหมากจับ ลายค้ำเพา ลวดลายทั้ง 5 ลายนี้ ได้นำมาประยุกต์ไว้ในผ้าผืนเดียวกันและได้มีการประกาศชื่อลายนี้ว่า คือ “ลายสาเกต” เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ ผ้าไหมสาเกตเป็นผ้าไหมมัดหมี่ ประกอบด้วยลวดลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ได้แก่

  1. ลายโคมเจ็ด หมายถึง โคมไฟส่องสว่างสู่ความรุ่งเรือง ความอุดมบูรณ์ ความเพิ่มพูนของผลผลิต ตลอดถึงการอยู่ดีกินดีของชาวร้อยเอ็ด
  2. ลายนาคน้อย หมายถึง ลายนาคพ่นน้ำ เป็นลัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น ฝนตกต้องตามฤดูกาลยังความอุดมสมบูรณ์แก่ไร่นา
  3. ลายคองเอี้ย หมายถึง ลักษณะของสายน้ำที่เอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวร้อยเอ็ด
  4. ลายหมากจับ (หมากจับเป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง) หมายถึง ความประทับใจ (จับจิตจับใจ) เมื่อใครได้มาพบเห็นความมีน้ำใจของชาวร้อยเอ็ดแล้วอยากจะไปมาหาสู่ตลอดไป
  5. ลายค้ำเพา เป็นลายเส้นตรงประกอบด้วยเส้นสองเส้น หมายถึง ความซื่อตรงมุ่งมั่น เข้มแข็ง คงทน ความยั่งยืนแห่งมิตรภาพของชาวร้อยเอ็ด

ทั้ง 5 ลายนี้ จะมีขนาดใดก็ได้ แต่การทอจะต้องให้ลายนาคน้อยอยู่ตรงกลาง และลวดลายเหล่านี้จะคั่นด้วยผ้าพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง)

ทั้งนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้มีประกาศมาตรฐานผ้าสาเกต เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2548 ได้แก่

ลายผ้า การเริ่มต้นทอ เริ่มจากลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายค้ำเพา และลายหมากจับ –  ลายนาคน้อย ต้องมีตัวนาค 12 ตัว –  ค้ำเพาให้เปลี่ยนการเขียน ค้ำเภา เป็นค้ำเพา แต่ความหมายในลายผ้ายังคงเดิม –  ตัวหมากจับให้ยึดแบบเดิม คือ 3 ลำ ความหนา มาตรฐานผ้าสาเกตร้อยเอ็ด ใช้ฟืมขนาด 42 นิ้ว เส้นยืนเส้นพุ่งขนาด 4×6 ไหมเส้นเล็ก สีผ้า สีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คือ สีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) โดยสีที่ใช้ต้องมีคุณภาพดี สีไม่ตก ช่องไฟของลาย ลายพื้นเท่ากับ 1.5 เซนติเมตร ขนาดผ้ามาตรฐาน หน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร

ที่มา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด