กู่กาสิงห์ เส้นทางขอมรุ่งเรืองในอดีต 800 ปี
เป็นปราสาท 3 หลังตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือใต้ ปราสาทประธานตั้งตรงกลางและใหญ่กว่า 2 หลัง ปราสาทและอาคารล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแรงสี่เหลี่ยมที่มีโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง 4 ด้าน ประตูเข้าได้จริงเฉพาะด้านทิศตะวันออก – ตะวันตก เท่านั้น นอกเขตกำแพงมีคูน้ำล้อมรอบ พบร่องรอยในกู่กาสิงห์เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ สัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรแบบบาปวน สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 มีความโดดเด่นอยู่ที่ทับหลัง แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัน เป็นสถาปัตยกรรมลวดลายสวยงามและประณีต นอกจากนั้นยังพบเครื่องประดับ(ตุ้มหู) เศียรนาค ทองคำ และใบไม้ทองคำ ซึ่งใช้ในพิธีกรรมวางศิลาฤกษ์ เป็นกลุ่มปราสาทที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และบริเวณใกล้กับปราสาทกู่กาสิงห์ ด้านทิศตะวันออก ประมาณ 500 เมตร เป็นที่ตั้งกู่โพนระฆัง สถานที่อโรคยาศาลา สถานที่รักษาผู้ป่วย และมีพระโพธิสัตว์ทางการแพทย์ ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติร้อยเอ็ด และห่างจากกู่กาสิงห์ด้านทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร กู่โพนวิจ สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญ สมัยขอมรุ่งเรืองในอดีต เมื่อ 800 ปี
ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ด 70 กม. (ใจกลางทุ่งกุลาร้องไห้) ปัจจุบันเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว “โฮมเสตย์” สัมผัสมหัศจรรย์วิถีชีวิตแบบชนบทคนทุ่งกุลาร้องไห้ และในท้องที่ อำเภอเกษตรวิสัย, ยังมีพระธาตุเมืองบัว ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบสุสานโบราณทรงแคปซูล แห่งแรกและแห่งเดียวของไทย อายุประมาณ 1,600 – 2,500 ปี ปัจจุบันตั้งอยู่พระธาตุเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย ห่างจากกู่กาสิงห์ ประมาณ 10 กม.
Cr.รูปภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด - กรมประชาสัมพันธ์